ReadyPlanet.com


รับมืออย่างไร เมื่อสงสัยว่าลูกรักถูกล่วงละเมิดทางเพศ


ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  (The Center for the Protection of Children’s Rights Foundation ) https://www.thaichildrights.org ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ได้ให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เมื่อเราสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไว้ดังนี้

  1. พร้อมรับฟังและช่วยเหลือเด็กในทุกกรณี เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่า ต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อนเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้ ควรแสดงตัวว่าพร้อมที่จะรับฟังเขา ช่วยเหลือเขาในทุกกรณี เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
  2. ตั้งสติรับฟังเรื่องราวอย่างสงบ อย่าตกใจ โกรธหรือเสียใจ แม้ว่าเรื่องราวที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงจนเหลือเชื่อ หากเราแสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดเล่า เพราะไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ รวมทั้งอาจทำให้เด็กกลัว ว่าจะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นหรือไม่
  3. ปล่อยให้เด็กพูดออกมาให้หมด อย่าขัดหรือโต้แย้ง กรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาด้านจิตใจหรืออารมณ์ คอยปลอบโยน ให้กำลังใจเด็ก ให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาหมด เขาจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทุกเรื่อง ปล่อยให้เด็กพูดทั้งหมดที่เขาต้องการบอกเล่าก่อน แล้วจึงค่อยซักถามในรายละเอียดที่เรารู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน
  4. อย่าคาดคั้นในข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน แม้เด็กจะไม่เล่าว่าผู้กระทำคือใคร ก็ไม่ต้องไปคาดคั้น แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะทำได้ การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป ยังมีวิธีค้นหาอื่น ๆ อีกมากมาย
  5. วิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งนี้ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อย หรือยังมีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ จึงเล่ารายละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เราจึงต้องค่อย ๆ ฟังและจับเรื่องราวต่าง ๆ มาวิเคราะห์แล้วหาวิธีการช่วยเหลือต่อไป
  6. แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ หรือแจ้งตำรวจทันทีหากทราบรายละเอียดแล้ว โดยแจ้งว่า ผู้กระทำเป็นใคร (หากทราบ) เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งตัวเด็กเองและเด็กคนอื่น ๆ ไม่ให้เจอสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้อีก
  7. พาเด็กไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันให้เด็กว่าจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่น ๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ก็เก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้บอกให้เด็กเข้าใจว่าเราถ่ายไปเพื่ออะไร และไม่นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
  8. พาเด็กไปตรวจรักษา (อาจร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือพาเด็กไปตรวจเองก่อนเพื่อความรวดเร็ว) เพื่อรวบรวมหลักฐาน ห้าม!! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากถูกกระทำผ่านมาหลายวันแล้วก็ควรที่จะตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วย

เพราะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างมากมาย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตเด็กที่อยู่ในความดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งพวกเขาก็ยังเด็กเกินกว่าที่จะอธิบายได้เมื่อเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้

ร่วมใส่ใจในสุขภาพของเด็กทุกคนให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า ขอบคุณข้อมูลจากสินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ.. https://www.smk.co.th/prehealth.aspx



ผู้ตั้งกระทู้ หว่าหวา :: วันที่ลงประกาศ 2020-06-24 13:50:19 IP : 49.49.239.75


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.