ReadyPlanet.com


พยาธิปอดหนูขึ้นตา พยาธิปอดหนูเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร?


หลังจากเกิดกระแสแชร์ในโซเชียลมีเดีย กรณีที่ข้าราชการหญิง อายุ 40 ปี มีอาการตาพร่ามัวข้างเดียวมา 1 สัปดาห์ เมื่อขยายม่านตาพบว่าม่านตาอักเสบ และพบพยาธิปอดหนูขนาด 0.5 เซนติเมตร อยู่ในวุ้นตา ซึ่งหลังจากผ่าตัดพบว่า ตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ และมีประวัติชอบกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืดที่ทานในเมนูกุ้งแช่น้ำปลา ทำให้เป็นข้อสงสัยกันว่า “พยาธิปอดหนู” คืออะไร? สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร? แล้วจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง? สินมั่นคงประกันสุขภาพมีข้อมูลมาฝากค่ะ

พยาธิปอดหนู คืออะไร?

"พยาธิปอดหนู" หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "พยาธิหอยโข่ง" พยาธิชนิดนี้เป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า "แองจิโอสตรองจิลัส แคนโทเนนซิส" (Angiostrongylus cantonensis) โดยปกติจะชอบเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู จึงเป็นที่มาว่าพยาธิปอดหนูนั่นเอง

เมื่อหนูถ่ายออกมา พยาธิตัวอ่อนก็จะปนอยู่ในขี้หนู โดยตัวอ่อนจะไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้ง ปูน้ำจืด กบ ตะกวด หรือแม้แต่ งู แล้วเติบโตเป็นตัวอ่อนอีกระดับต่อไป เมื่อพยาธิตัวอ่อนเติบโตจนเป็นระยะติดต่อ พอกินเข้าไปพยาธิก็จะไชเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง ทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง ชัก อาจเป็นอัมพาตหรือตายได้ และที่สำคัญพยาธิมันไชไปเรื่อยๆ ถ้าพยาธิไชเข้าตา ตาอาจจะอักเสบ มัว และตาบอดได้

การค้นพบ "พยาธิปอดหนู"

"พยาธิปอดหนู" มีรายงานว่า ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1935 จากเส้นเลือดปอดหนูที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อพยาธิปอดหนูโลกมากกว่า 2,827 ราย รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ป่วยมากถึง 1,337 ราย โดยพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2503 ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์วินิจฉัยมีสาเหตุมาจากการรับประทานหอยโข่ง

ปัจจุบันสามารถพบพยาธิปอดหนูได้ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก วงจรชีวิตของพยาธิปอดหนู มีหอยเป็นโฮสต์ตัวกลางและหนูเป็นโฮสต์จําเพาะ โดยตัวอ่อนพยาธิปอดหนูพบได้ในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงปอดหรือหัวใจซีกขวาของหนูที่เป็นโฮสต์จําเพาะ พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู ซึ่งสามารถไชสู่หอย จากนั้นพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 ที่เป็นระยะติดต่อ

อาการของโรคพยาธิปอดหนู

"พยาธิปอดหนู" ทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7-30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัวเนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา นอกจากนี้ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ส่วนความรุนแรงของโรคพยาธิปอดหนูจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป และการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ

การรักษาโรคพยาธิปอดหนู

ปัจจุบันยังไม่มียาที่มีความจําเพาะในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาแก้ปวดระงับอาการของโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะต้องรักษาด้วยยา prednisolone

การป้องกันโรคพยาธิปอดหนู

มนุษย์สามารถรับตัวอ่อนระยะของพยาธิปอดหนูจากการทานหอยชนิดต่าง ๆ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหอยน้ำจืด หอยบก ทาก รวมไปถึง กบ, คางคก, ลูกอ๊อด, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด และตะกวด นอกจากนี้ การทานผักสดหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนระยะติดต่อก็สามารถทำให้ติดพยาธิปอดหนูได้ จึงไม่ควรรับประทานอาหารเหล่านี้แบบดิบๆ หรือไม่ผ่านการปรุงสุก

ในประเทศไทยพบว่า มีการนําหอยโข่งมาปรุงเป็นอาหารท้องถิ่นจึงทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิปอดหนู อย่างไรก็ตาม หอยโข่งถือเป็นโฮสต์ตัวกลางที่ไม่เอื้อต่อการอาศัยของตัวอ่อนพยาธิปอดหนูและปริมาณหอยโข่งที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการติดเชื้อจากการกินหอยเชอรี่ และล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 ก็มีรายงานว่า หอยทากสยาม (Cryptozona siamensis) ก็นับเป็นตัวกลางของพยาธิปอดหนูได้ด้วยเช่นกัน

คุ้มครองทุกค่ารักษาพยาบาล แบบเหมาจ่ายตามจริงสูงสุด 500,000 บาทต่อปี ไม่ต้องสำรองจ่าย กับประกันสุขภาพเหมาจ่าย จากสินมั่นคงประกันภัย ที่สุดของความคุ้มครองเรื่องสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ช่วยให้คุณไม่ยุ่งยากเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย ยกระดับการรักษาพยาบาลของคุณและครอบครัว สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/producthealthdetail/7 หรือ โทร.1596 Line : @smkinsurance

 
 

 



ผู้ตั้งกระทู้ อัชชี่ :: วันที่ลงประกาศ 2022-02-24 11:20:37 IP : 202.183.242.2


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.