ReadyPlanet.com


มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ปฏิบัติตัวอย่างไร โควิดไม่กลับมา


ภายหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ลดจำนวนลงจนมีตัวเลขเป็น 0 ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรม 6 กลุ่ม 6 กิจการ อาทิ ตลาด ร้านขายอาหาร กิจการค้าปลีกส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต และกิจกรรมในสวนสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. เป็นต้นมา ล่าสุด ที่ประชุม ศคบ. ได้มีมติผ่อนปรนระยะที่ 2 เพื่อเปิดเมือง แต่จะมีมาตรการอย่างไรกันบ้าง? แล้วเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำอีก 

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการผ่อนปรนเปิดให้บริการกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเป็นบางส่วน มีรายละเอียดดังนี้

1.      การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ในภัตตาคาร ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ สวนอาหาร ร้านไอศกรีม ร้านขนมหวาน ในอาคารสำนักงาน ให้เปิดได้โดยอาจให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น หรือหากให้นั่งกินที่ร้านต้องจัดระเบียบให้เป็นไปตามข้อกำหนด แต่ยังคงห้ามการดื่มสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน

2.      ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ยกเว้น โบว์ลิ่ง สนามพระ โรงหนัง สวนน้ำ พื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โรงเรียน สถาบันกวดวิชา ตู้เกม ร้านนวดแผนไทย สปา ฯลฯ

3.      ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์ ค้าส่งอื่น ๆ ตลาดค้าส่ง สามารถเปิดได้ แต่ต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่าง และควบคุมการเข้าออก

กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย

1.      คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม คุมน้ำหนัก เฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณ เปิดให้บริการได้ ยกเว้นการทำความงามที่เกี่ยวข้องบนใบหน้า เนื่องจากเป็นจุดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

2.      โรงยิม สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ฟิตเนส ให้เปิดบริการได้เฉพาะบางส่วน โดยไม่มีการออกกำลังกายแบบรวมกลุ่ม รวมถึง การเล่นเครื่องเล่นอย่างลู่วิ่ง จักรยานปั่น ฯลฯ เนื่องจากจะมีการสัมผัสติดต่อกัน ส่วนสนามมวย และโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ ยังคงให้ปิดบริการ

กิจกรรมอื่น ๆ

1.      ห้องประชุม โรงแรม ศูนย์ประชุม อนุญาตให้เปิดได้  โดยกำหนดลักษณะการนั่งประชุมแบบจำกัดจำนวนคน ห้องสมุดสาธารณะ แกลเลอรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนห้องจัดอบรม สัมมนา ยังคงให้ปิดบริการ

2.      กิจการถ่ายภาพยนตร์ รวมทีมงานหน้าฉากและทุกแผนกได้ไม่เกิน 50 คน ทั้งกล้อง ช่างภาพ ช่างไฟ ฝ่ายฉาก ผู้กำกับ นักแสดง ทำผม แต่งหน้า

ส่วนมาตรการที่ยังคงไว้ ไม่ยกเลิก คือ การห้ามเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และปรับระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน เป็น 5 ทุ่ม-ตี 4 และงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดด้วย ยกเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น หรือแล้วแต่มาตรการของแต่ละจังหวัดจะเห็นสมควร

กทม. ขานรับมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เปิดให้บริการ 10 กลุ่มสถานที่

สำหรับมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 กรุงเทพมหานครได้มีการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครแล้วทั้งหมด 10 กลุ่มสถานที่ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เป็นต้นไป ดังนี้

1.      ร้านอาหารและเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ อนุญาตเปิดให้นั่งทานได้ แต่ต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.      ร้านอื่น ๆ ในห้างสรรพสินค้า อนุโลมให้เปิดได้ แต่ที่สำคัญคือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า การป้องกันไม่ให้เกิดแออัด การรักษาสุขลักษณะอนามัย การทำความสะอาดพื้นที่ และเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ส่วนที่ยังปิด คือ โรงภาพยนตร์ ร้านเกม ลานโบว์ลิ่ง ลานสเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญ คาราโอเกะ สวนสนุก สวนน้ำ สถานที่ประกวดพระเครื่อง และศูนย์ประชุมในห้างสรรพสินค้า

3.      สถานที่รับเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ จะให้เปิดเฉพาะที่เป็นการจัดสวัสดิการโดยรัฐ ส่วนการมาเช้าเย็นกลับยังไม่ให้เปิดใช้บริการ

4.      กองถ่ายภาพยนตร์นอกสถานที่ ต้องมีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคน หน้าฉากที่ออกกล้องไม่เกิน 10 คน ขณะที่เมื่อรวมกับคนหลังกล้องต้องไม่เกิน 50 คน และการออกนอกสถานที่ต้องแจ้งสำนักงานเขตก่อนถ่ายทำ 1 วัน

5.      ห้องประชุมในโรงแรม หรือศูนย์ประชุม จัดได้แต่ห้ามเกิน 50 คน และต้องเป็นการประชุมจากหน่วยงานเดียวกัน

6.      คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า โดยทำได้ทุกอย่างเว้นบริเวณใบหน้า เช่น การฉีดโบท็อกซ์ กดสิว เพราะแพทย์มีความเป็นห่วงเนื่องจากเสี่ยงการติดโควิด-19 รวมถึง ร้านทำเล็บ เปิดบริการได้ตามปกติ

7.      ฟิตเนส นอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ เปิดให้เล่นได้เฉพาะ ฟรีเวท (Free weight) โยคะ เล่นได้คนละไม่เกิน 2 ชั่วโมง มีระบบจองคิว เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้งานแล้ว และผู้เล่นโยคะต้องนำเสื่อมาเอง

8.      สถานที่ออกกำลังกายในร่ม โรงยิม ได้เฉพาะกีฬาดังต่อไปนี้ แบดมินตัน ตะกร้อ ปิงปอง สควอช ยิมนาสติก ฟันดาบ และปีนผา ต้องมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังเล่น และต้องไม่มีการชมการแข่งขัน ต้องสวมหน้ากากอนามัยทั้งก่อนและหลังใช้บริการ

9.      สระว่ายน้ำสาธารณะทุกประเภท ต้องจำกัดผู้ใช้ตามขนาดพื้นที่ 150 ตารางเมตรต่อคน และจำกัดคนละ 1 ชั่วโมง รวมถึงต้องสวมหน้ากากทั้งก่อนและหลังใช้บริการ ให้เปิดได้ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. (งดเว้นการเรียนและสอนว่ายน้ำ)

10.  สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะและหอศิลป์ ต้องมีการจองคิวล่วงหน้าและจัดเป็นรอบ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ เก้าอี้ อย่างน้อย 1 เมตร ไม่มีการฉายวีดิทัศน์ชมแบบรวมกลุ่ม

4 กฎเหล็ก คุมเข้มผู้ประกอบการ ป้องการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าต้องมีมาตรการสูงสุดในการสกัดเชื้อโรคเพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและผู้มาบริการ ดังนี้

1.      ผู้ประกอบการเน้นเรื่องการทำความสะอาด เช่น พื้นที่โดยรอบก่อนเปิด พื้นห้าง ห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดทั้งระบบ เน้นระบายอากาศ ต้องทดสอบระบบระบายอากาศก่อนเปิด

2.      ผู้ให้และผู้รับบริการต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ หากเป็นจุดที่มีการพบผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานคิดเงินอาจใช้เฟซชิลด์เสริมการใส่ หน้ากากผ้า ผู้รับบริการต้องสวมใส่หน้ากากผ้าไว้ตลอดเวลา

3.      มีอ่างล้างมือหรือมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ

4.      จัดการเว้นระยะห่างให้กับผู้มารับบริการ มีตารางที่พื้นเพื่อให้รู้ตำแหน่งการเว้นระยะที่ถูกต้อง และต้องควบคุมจำนวนคน ที่มาขอรับบริการอย่างเคร่งครัด โดย ผู้ให้บริการและห้างร้าน จะต้องดาวน์โหลดแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จาก www.ไทยชนะ.com และปรินท์คิวอาร์โค้ดติดไว้หน้าร้านให้ผู้รับบริการสแกนเพื่อเช็กอิน เช็กเอาต์ ตรวจสอบความแออัดของร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งติดตามตัวผู้ใช้บริการหากมีเหตุจำเป็น หรือหากผู้รับบริการไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ประกอบการอาจจะใช้วิธีจดข้อมูลไว้แทน

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หากประชาชนและผู้ประกอบการต่างละเลยต่อมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขจนอาจส่งผลให้เกิดการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง และทำให้ไม่สามารถมีมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ได้ ก็จะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยิ่งกลับเลวร้ายลงกว่าเดิมจนไม่อาจฟื้นฟูเยียวยาได้อีก

ร่วมกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววันอย่างเข้มแข็ง ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันสุขภาพ 



ผู้ตั้งกระทู้ PuppyGal :: วันที่ลงประกาศ 2020-05-22 14:55:36 IP : 49.49.241.245


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.