ReadyPlanet.com


ถือศีลอดอย่างไรให้ปลอดโควิด ในเดือนรอมฎอน


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเกิดจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนหมู่มาก จนทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้ออย่างรวดเร็ว ในช่วงเดือนรอมฎอนของปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 เมษายน จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ให้กลับมาลุกลามได้อีกหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดจำนวนลงจนเรื่อย ๆ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แล้วชาวมุสลิมควรปรับตัวอย่างไร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิ

 "เดือนรอมฎอน" คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินในศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมจะต้องถือศีลอดด้วยการอดอาหารตลอดทั้งเดือน เพื่อฝึกความอดทน (ตบะ) อุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงภาวะขาดแคลนอาหารของผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน โดยมีข้อห้ามเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ดังนี้

1. ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา

2. ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา

3. ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา

4. ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา

ส่วนการบ้วนน้ำลายในช่วงถือศีลอดเป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติกันในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน แต่ปัจจุบันมีการสร้างความเข้าใจใหม่แล้วว่า น้ำลายเป็นสิ่งที่ผลิตได้โดยร่างกาย ไม่ได้เป็นการดื่มน้ำจากภายนอก ชาวมุสลิมจึงสามารถกลืนน้ำลายได้ในช่วงถือศีลอด (ข้อมูลจากนายกสมาคมแพทย์มุสลิม

ชาวมุสลิมถือศีลอดอย่างไรในสถานการณ์โควิด

สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับข้อปฏิบัติด้านสาธารณสุขคือการกลับมารวมตัวกันของญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อรับประทานอาหารและทำพิธีละหมาดร่วมกันที่มัสยิดในช่วงเดือนรอมฎอน รวมถึงยังมีชาวมุสลิมบางกลุ่มที่ยังคงยึดถือการบ้วนน้ำลายทิ้งในช่วงถือศีลอด จนอาจเป็นสาเหตุทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลับมาแพร่กระจายได้ในวงกว้างอีกครั้ง

กรมควบคุมโรค จึงได้ออกแถลงการณ์เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตนของชาวมุสลิมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพื่อขอความร่วมมือชาวมุสลิมทุกคนให้ยึดถือแนวทางการปฏิบัติตนด้วยความเคร่งครัด ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลามกันเท่านั้น

2. งดการไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด และปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด อ่านประกาศจุฬาราชมนตรี คลิก โดยแนะนำให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน และงดการแบ่งปันอาหารให้แก่กัน หากจำเป็นให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และไม่จัดอาหารแบบใส่ถาดรวม (บุฟเฟต์) ให้แยกเป็นอาหารจานเดียว มีช้อนส้อมและแก้วน้ำเฉพาะของตนเอง และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

4. หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมาก หากจำเป็นควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลให้สะอาดอยู่เสมอ

5.  กรณีมีความจำเป็นต้องปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด แนะนำให้เปิดหน้าต่างและผ้าม่านเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก งดการใช้เครื่องปรับอากาศ และให้คัดกรองทุกคนก่อนเข้ามัสยิด หากมีอาการไข้ (อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดเข้าร่วมและแนะนำให้สังเกตอาการที่บ้าน

6. หากสัมผัสบุคคลหรือไปสถานที่เสี่ยง เมื่อกลับเข้าบ้าน แนะนำให้รีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำสระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า

7.  เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากจะเป็นข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอดที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำในสภาพอากาศร้อนด้วย

นอกจากนี้ สำนักจุฬาราชมนตรียังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เพิ่มเติมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย การปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

1. การถือศีลอดเดือนรอมฎอนให้ถือปฏิบัติตามปกติที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ยกเว้น ผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามหลักการศาสนาเท่านั้น

2.การกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษ อาหารที่อยู่ในช่องปากมิได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิด การแพร่ระบาดของเชื้อในสภาวการณ์ปัจจุบัน

3. งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ หากมี ความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ แล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่มารวมกันเป็นหมู่คณะ

4.  กรณีสมาชิกในครอบครัวละศีลอดหรือรับประทานอาหารซาโฮร์ร่วมกัน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร

5. งดละหมาดประเภทต่าง ๆ ใน ค่ำคืนของเดือนรอมฎอน ตลอดจนกิจกรรมการรวมตัวอื่นๆ ที่มัสยิด หรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

แม้จะเป็นความยากลำบากในการปฏิบัติศาสนกิจ แต่หากทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรคและสำนักจุฬาราชมนตรีอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ในเร็ววัน ขอร่วมส่งกำลังใจให้พี่น้องมุสลิม พุทธศาสนิกชน และคริสต์ศาสนิกชนทุกคน ไม่เว้นแม้ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

 อบคุณข้อมูลจาก https://www.smk.co.th/prehealth.aspx



ผู้ตั้งกระทู้ สินชัย :: วันที่ลงประกาศ 2020-04-28 15:46:12 IP : 49.49.248.218


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.