ReadyPlanet.com


ต้องรับมืออย่างไร? หากประเทศไทยเข้าสู่การระบาดเฟสที่ 3 !!!


จากการแถลงข่าวสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 ของกระทรวงสาธารณสุขของวันที่ 12 มีนาคม 2563 ระบุว่า มียอดผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นวันเดียวถึง 11 คน ทำให้ตัวเลขสะสมของไทยอยู่ที่ 70 คน กลับบ้านได้ 35 คน รักษาอยู่ 34 คน เสียชีวิต 1 คน คลิก อ่านรายละเอียดสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ที่กำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราควรเตรียมการอย่างไร เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ หากในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ประเทศไทยต้องเข้าสู่การแพร่ระบาดในเฟสที่ 3

การแพร่ระบาดเฟส 3 คืออะไร?

หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้แบ่งความรุนแรงของการระบาด ออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน ซึ่งแต่ละเฟสจะบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ดังนี้

• ระยะที่ 1 ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบ เป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ และไม่พบการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ติดเชื้อล้วนเป็นชาวต่างชาติที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

• ระยะที่ 2 เริ่มมีคนไทยติดเชื้อในประเทศจากนักท่องเที่ยวหรือคนไทยที่คาดว่าติดเชื้อจากการเดินทางไปยังกลุ่มประเทศเสี่ยง เช่น กรณีผู้ติดเชื้อชาวไทยที่ทำอาชีพขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวจีน แต่ยังไม่พบการติดต่อกับกลุ่มคนในประเทศจากคนในประเทศด้วยกันที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังกลุ่มประเทศเสี่ยง

• ระยะที่ 3 เป็นช่วงที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะพบว่ามีการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศด้วยกัน ระหว่างผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังต่างประเทศ และพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ หลังจากที่ผู้มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศได้แพร่กระจายต่อชุมชนในลัทธิแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดการแพร่กระจายต่อในชุมชนต่าง ๆ เป็นวงกว้าง

แล้วเราควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ในเฟส 3 อย่างไร?

 

1. สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยระมัดระวังในการหยิบ ถอด และใส่อย่างถูกวิธี อาจเลือกเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้าสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้มีหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อผู้ที่จำเป็นต้องใช้ในยามขาดแคลน อ่านใช้หน้ากากแบบไหน? ปลอดภัยจาก Covid-19 คลิก www.smk.co.th/newsdetail/1552

2. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ ภายหลังจากที่มีการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาดและอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ โดยหลีกเลี่ยงการนำมือมาจับใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก และใบหู หรือหากไม่สามารถหาสบู่สำหรับล้างมือได้ อาจเปลี่ยนมาใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 70% ทดแทน

3. กินอาหารที่อุ่นร้อนหรือทำเสร็จใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง หรือพกพาแก้วน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว ไม่ใช้ปะปนร่วมกับผู้อื่น และล้างมือก่อนรับประทานอาหารเสมอ

4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ไอหรือจาม หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หรือหากจำเป็นต้องไอหรือจามอย่างกะทันหัน ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูกของตัวเอง

5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดและสถานที่ชุมนุมคน รวมถึงพื้นที่ที่มีอากาศปิดเป็นระยะเวลานาน เช่น รถสาธารณะ คอนเสิร์ต งานประชุมต่าง ๆ

6. ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว นอนหลับให้ครบ 6-8 ชั่วโมง และรักษาสุขภาพใจให้เข้มแข็ง

7. หมั่นสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีไข้ร่วมกับอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรือหายใจไม่สะดวก ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

แม้สถานการณ์จะเริ่มเข้าใกล้การแพร่ระบาดระยะที่ 3 เข้าไปทุกที แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรงปลอดจาก Covid-19 แล้ว การส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกบทบาทและหน้าที่ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะ “มดงาน” เหล่านี้กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดระยะที่ 3 ให้เกิดขึ้นอย่างช้าที่สุด เพราะหากเวลานั้นมาถึงจริง ๆ คงไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า สถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด

ขอบคุณข้อมูลจาก www.smk.co.th



ผู้ตั้งกระทู้ สินชัย :: วันที่ลงประกาศ 2020-03-13 13:46:19 IP : 202.183.242.2


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.